ความรักเหมือนโรคา     บันดาลตาให้มืดมน
      ไม่ยินเเละไม่ยล                         อุปะสัคคะใดใด
       ความรักเหมือนโคถึก              กำลังคึกผิขังไว้
         ก็โลดจากคอกไป                     บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง

มัทนะพาธา เป็นบทละครพูดคำฉันท์ 5 องก์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นทั้งหมดด้วยพระองค์เองโดยไม่ได้อิงเนื้อหามาจากที่อื่น ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งเริ่มและจบลงในปี พ.ศ. 2466 เล่าเรื่องว่าด้วยตำนานเกี่ยวกับดอกกุหลาบ และความเจ็บปวดจากความรัก
มัทนะพาธา เป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในด้านเป็นยอดบทละครพูดคำฉันท์ และยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ประเภทบันเทิงคดีอีกด้วย


ชื่อมัทนะพาธา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า อยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ พระองค์ทรงกล่าวถึงที่มาของงชื่อมัทนาว่า “...ก่อนได้ทราบว่าดอกกุหลาบเรียกว่าอย่างไรในภาษาสันสกฤตนั้น ข้าพเจ้าได้นึกไว้ว่าจะให้ชื่อนางเอกในเรื่องนี้ตามนามแห่งดอกไม้ แต่เมื่อได้ทราบแล้วว่าดอกกุหลาบ คือ “กุพชกา” เลยต้องเปลี่ยนความคิด เพราะถ้าแม้ว่าจะให้ชื่อนางว่า “กุพชกา” ก็จะกลายเป็นนางค่อมไป ข้าพเจ้าจึงค้นหาดูศัพท์ต่างๆ ที่พอจะใช้เป็นนามสตรี ตกลงเลือกเอา “มัทนา” จากศัพท์ “มทน” ซึ่งแปลว่าความลุ่มหลงหรือความรัก เผอิญในขณะที่ค้นนั้นเองก็ได้พบศัพท์ “มทนพาธา” ซึ่งโมเนียร์ วิลเลียมส์ แปลไว้ว่า “the pain or disquietude of love” (ความเจ็บปวดหรือเดือดร้อนแห่งความรัก” ซึ่งข้าพเจ้าได้ฉวยเอาทันที เพราะเหมาะกับลักษณะแห่งเรื่องที่เดียว เรื่องนี้จึงได้นามว่า “มัทนะพาธาหรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ” ด้วยประการฉะนี้....”
เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องแบ่งเป็นสองภาค คือภาคสวรรค์ และภาคพื้นดิน
          ภาคสวรรค์ - กล่าวถึงสุเทษณ์เทพบุตร ซึ่งในอดีตชาตินั้นคือกษัตริย์แคว้นปัญจาล และนางมัทนา ซึ่งในอดีตชาติเป็นราชธิดาในกษัตริย์แคว้นสุราษฎร์ ซึ่งทั้งคู่ได้มาเกิดใหม่บนสวรรค์ สุเทษณ์เทพบุตรใฝ่ปองรักนางฟ้ามัทนา แต่ก็ไม่อาจจะสมรักด้วยกรรมที่เคยทำมาแต่อดีต ทำให้ไร้ซึ่งความสุขอย่างยิ่ง สุเทษณ์เทพบุตร จึงได้ให้วิทยาธรนามว่า "มายาวิน" ใช้เวทมนตร์คาถาไปสะกดเอานางมัทนาเข้ามาหา ก่อนที่มายาวินจะใช้เวทมนตร์เรียกนางมัทนา ได้ทูลสุเทษณ์เทพบุตรว่า การที่พระองค์ไม่อาจจะสมรักกับมัทนาได้ เป็นเพราะเมื่อชาติปางก่อน เมื่อพระองค์เป็นกษัตริย์แคว้นปัญจาลนั้น พระองค์ได้ไปสู่ขอมัทนาจากกษัตริย์แคว้นสุราษฎร์ผู้เป็นพระราชบิดา แต่ท้าวสุราษฎร์ไม่ให้ จึงเกิดรบกันขึ้น ในที่สุดท้าวสุเทษณ์แห่งแคว้นปัญจาลก็ชนะ จับท้าวสุราษฎร์เป็นเชลย และจะประหารชีวิตเสีย แต่นางมัทนาเข้ามาขอชีวิตพระราชบิดาไว้ และยอมเป็นบาทบริจาริกา ก่อนที่นางจะใช้พระขรรค์ปลงพระชนม์ตนเอง เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว นางมัทนาก็ไปเกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ ส่วนท้าวสุเทษณ์ก็ได้ทำพลีกรรมบำเพ็ญจนได้มาเกิดบนสวรรค์เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ดี สุเทษณ์เทพบุตร ก็ยังยืนยันจะให้มายาวินลองวิชาดูก่อน มายาวินจึงเรียกเอามัทนามาด้วยวิชาอาคม เมื่อมัทนามาแล้ว ด้วยมนต์ที่ผูกไว้ ทำให้ไม่ว่าสุเทษณ์เทพบุตรจะถามอย่างไร มัทนาก็ตอบตามเป็นคำถามย้อนไปอย่างนั้น เหมือนไม่มีสติ สุเทษณ์เทพบุตรขัดใจนักก็ให้มายาวินคลายมนต์ ครั้นมนต์คลายแล้ว มัทนาก็ตกใจที่ตนล่วงเข้ามาในวิมานของสุเทษณ์เทพบุตรโดยไม่รู้ตัว สุเทษณ์เทพบุตรพยายามจะฝากรักมัทนา แต่มัทนามิรักตอบ จะอย่างไรๆก็ไม่ยอมรับรัก จนสุเทษณ์เทพบุตรกริ้วจัด สาปส่งให้นางลงไปเกิดเป็น ดอกกุพชกะ คือ ดอกกุหลาบ อยู่ในแดนมนุษย์ และจะกลับคืนเป็นคนได้ก็ต่อเมื่อวันเพ็ญ เพียง 1 วัน 1 คืนเท่านั้น แล้วจะกลับคืนเป็นกุหลาบดังเดิม แต่หากนางได้รักบุรุษใดแล้ว เมื่อนั้นจึงจะคงรูปมนุษย์อยู่ได้ และหากเมื่อใดที่นางมีทุกข์เพราะรัก ก็จงขอประทานโทษมายังพระองค์พระองค์จะยกโทษให้

          ภาคพื้นดิน - มัทนาได้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบอยู่ในป่าหิมวัน ในป่านั้นมีพระฤๅษีนามกาละทรรศินพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย พระกาละทรรศินได้เห็นกุหลาบมัทนาก็ชอบใจ สั่งให้ศิษย์ขุดเอากุหลาบมัทนาไปปลูกใหม่ไว้ใกล้อาศรม เมื่อถึงคืนวันเพ็ญ มัทนาก็กลายเป็นร่างมนุษย์มาคอยรับใช้พระกาละทรรศินและศิษย์ทั้งหลาย คอยปรนนิบัติเรื่อยมา พระกาละทรรศินก็รักมัทนาเหมือนลูกตัว
ต่อมาวันหนึ่ง ท้าวชัยเสนผู้ครองนครหัสดิน ได้เสด็จประพาสป่า ผ่านมายังอาศรมพระกาละทรรศิน ประจวบกับเป็นคืนวันเพ็ญ ก็ได้พบกับนางมัทนา ทั้งสองฝ่ายต่างรักกัน พระกาละทรรศินก็จัดพิธีอภิเษกให้ และนางมัทนาก็ได้เดินทางไปกับท้าวชัยเสน เข้าไปยังกรุงหัสดิน โดยไม่ได้กลับเป็นดอกกุหลาบอีก ท้าวชัยเสนหลงรักนางมัทนามาก จนกระทั่งลืมมเหสีของตนคือนางจัณฑี พระมเหสีจัณฑีหึงหวงนางมัทนา ทั้งอิจฉาริษยาเป็นอันมาก ก็ทำอุบายใส่ร้ายนางมัทนาว่าเป็นชู้กับทหารเอกท้าวชัยเสนนามว่าศุภางค์ และยุยงท้าวมคธพระราชบิดาให้มาตีเมืองหัสดิน ท้าวชัยเสนออกไปรบ ครั้นเมื่อกลับมาได้ข่าวว่ามัทนาลอบเป็นชู้กับศุภางค์ก็กริ้วจัด สั่งประหารมัทนาเสียทันที แต่เพชฌฆาตได้ปล่อยนางหนีไปเพราะความสงสาร ส่วนศุภางค์นั้น ด้วยความจงรักภักดีต่อท้าวชัยเสน ก็ออกสนามรบกับท้าวชัยเสนเป็นครั้งสุดท้ายในฐานะไพร่ทหารเลว และตายในที่รบ
มัทนาหนีกลับมายังป่าหิมวัน และได้ทำพลีกรรม์บูชาสุเทษณ์เทพบุตร จนสุเทษณ์เทพบุตรเสด็จมา และเอ่ยปากจะช่วยให้คืนสวรรค์ สุเทษณ์เทพบุตรได้ขอความรักจากนางอีก แต่มัทนามิสามารถจะรักใครได้อีกแล้ว และปฏิเสธไป สุเทษณ์เทพบุตรกริ้วนัก จึงสาปนางให้เป็นกุหลาบไปตลอดชีวิต
ฝ่ายท้าวชัยเสน ต่อมาเมื่อรบชนะท้าวมคธ และได้รู้ความจริงทั้งหมด ก็กริ้วพระมเหสีจัณฑีมาก และได้ลงอาญาไป ก่อนจะออกไปตามหามัทนาในป่า แต่สิ่งที่พบ ก็เพียงแต่กุหลาบกอใหม่อันขึ้นอยู่ยังกองกูณฑ์บูชาสุเทษณ์เทพบุตรเท่านั้น ท้าวชัยเสนทำอะไรไม่ได้อีกต่อไป แต่ด้วยความรักสุดจะรัก จึงนำกุหลาบมัทนากลับไปปลูกใหม่ยังสวนขวัญกรุงหัสดิน 
          
          
ลักษณะการแต่ง
          
         และตอนใดที่เน้นเรื่องมัทนะพาธาใช้คำประพันธ์หลายชนิดแต่เน้นแต่งด้วยฉันท์ บางตอนใช้กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบังหรือกาพย์สุรางคนางค์ และมีบทเจรจาร้อยแก้วในส่วนของตัวละครที่ไม่สำคัญทำให้มีลีลาภาษาที่หลากหลาย ตอนใดดำเนินเรื่องรวดเร็วก็ใช้ร้อยแก้วตอนใดต้องการจังหวะเสียงและความคล้องจองก็ใช้กาพย์ อารมณ์มากก็มักใช้ฉันท์ เช่นตอนที่สุเทษณ์ตัดพ้อและมัทนาเจรจาตอบใช้วสันตดิลกแสดงจังหวะรวดเร็วของถ้อยคำเสริมให้คารมโต้ตอบกันมีลีลาฉับไวและทันกัน

        
เรื่องย่อ
          
        มัทนะพาธาเป็นเรื่องสมมุติว่าเกิดในอินเดียโบราณเนื้อเรื่องกล่าวถึงเหตุการณ์บนสวรรค์ เทพบุตรสุเทษณ์หลงรักเทพธิดามัทนาแต่นางไม่ปลงใจด้วย สุเทษณ์จึงขอให้วิทยาธรมายาวินใช้เวทมนตร์สะกดเรียกนางมา มัทนาเจรจาตอบสุเทษณ์อย่างคนไม่รู้สึกตัว สุเทษณ์จึงไม่โปรดเมื่อขอให้มายาวินคลายมนตร์ มัทนาก็รู้สึกตัวและตอบปฏิเสธสุเทษณ์ สุเทษณ์โกรธจึงสาปให้เธอจุติไปเกิดบนโลกมนุษย์ มัทนาขอไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ สุเทษณ์กำหนดว่าให้ดอกกุหลาบดอกนั้นกลายเป็นมนุษย์เฉพาะวันเพ็ญเพียงวันและคืนเดียวต่อเมื่อมีความรักจึงจะพ้นสภาพจากเป็นดอกไม้ และหากเป็นความทุกข์เพราะความรักก็ให้วิงวอนต่อพระองค์พระองค์จะช่วย
          ณ กลางป่าหิมะวัน ฤษีกาละทรรศินพบ ต้นกุหลาบจึงขุดไปปลูกไว้ที่อาศรมเมื่อมัทนากลายเป็นมนุษย์ก็เลี้ยงดูรักใคร่เหมือนลูกท้าวชัยเสนกษัตริย์แห่งเมืองหัสตินาปุระเสด็จไปล่าสัตว์ได้พบนางมัทนาก็เกิดความรัก มัทนาก็มีใจเสน่หาต่อชัยเสนด้วยเช่นกันทั้งสองจึงสาบานรักต่อกัน และมัทนาไม่ต้องกลับไปเป็นกุหลาบอีกแต่เมื่อชัยเสนพามัทนาไปยังเมืองหัสตินาปุระของพระองค์พระนางจัณฑีมเหสีของชัยเสนหึงหวงและแค้นใจมากนางขอให้พระบิดาซึ่งเป็นพระราชาแคว้นมคธยกทัพมาตีหัสตินาปุระ จัณฑียังใช้ให้นางค่อมข้าหลวงทำกลอุบายว่ามัทนารักกับศุภางค์ทหารเอกของชัยเสนชัยเสนหลงเชื่อจึงสั่งให้ประหารมัทนาและศุภางค์แต่ต่อมาเมื่อชัยเสนรู้ว่ามัทนาและศุภางค์ไม่มีความผิดก็เสียใจมากอำมาตย์เอกจึงทูลความจริงว่ายังมิได้สังหารนาง และศิษย์ของพระกาละทรรศินได้พานางกลับไปอยู่ในป่าหิมะวันแล้วส่วนศุภางค์ก็เป็นอิสระเช่นกัน และได้ออกต่อสู้กับข้าศึกจนตายอย่างทหารหาญ
ชัยเสนจึงเดินทางไปรับนางมัทนา ขณะนั้นมัทนาทูลขอให้สุเทษณ์รับนางกลับไปสวรรค์สุเทษณ์ขอให้นางรับรักตนก่อน แต่มัทนายังคงปฏิเสธสุเทษณ์กริ้วจึงสาปให้มัทนาเป็นกุหลาบตลอดไป ชัยเสนมาถึงแต่ก็ไม่ทันการณ์จึงได้แต่นำต้นกุหลาบกลับไปยังเมืองหัสตินาปุระ

          บทวิเคราะห์

คุณค่าด้านเนื้อหา
๑. โครงเรื่อง  เป็นบทละครพูดคำฉันท์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดโครงเรื่องเอง ไม่ได้ตัดตอนมาจากวรรณคดีเรื่องใด แก่นสำคัญของเรื่องมีอยู่    ประการ คือ 
                       ๑)  ทรงปราถนาจะกล่าวถึงตำนานดอกกุหลาบ  ซึ่งเป็นดอกไม้ที่สวยงาม  แต่ไม่เคยมีตำนานในเทพนิยาย  จึงพระราชนิพนธ์ให้ดอกกุหลาบมีกำเนิดมาจากนางฟ้าที่ถูกสาปให้จุติลงมาเกิดเป็นดอกไม้ชื่อว่า  "ดอกกุพฺชกะ" คือ  "ดอกกุหลาบ" 

                        ๒)  เพื่อแสดงความเจ็บปวดอันเกิดจากความรัก  ทรงแสดงให่เห็นว่าความรักมีอนุภาพอย่างยิ่ง  ผู้ใดมีความรักก็อาจเกิดความหลงขึ้นตามมาด้วย  ทรงใช้ชื่อเรื่องว่า  "มัทนะพาธา"  อันเป็นชื่อของตัวละครเอกของเรื่อง  ซึ่งมีความหมายว่า  "ความเจ็บปวดหรือความเดือดร้อนอันเกิดจากความรัก"  มีการผูกเรื่องให้มีความขัดแย้งซึ่งเป็นปมปัญหาของเรื่อง  คือ  

                ๑)  สุเทษณ์เทพบุตรหลงรักนางมัทนา  แต่นางไม่รับรักตอบจึงสาปนางเป็นดอกกุพฺชกะ (กุหลาบ) 

                ๒)  นางมัทนาพบรักกับท้าวชัยเสน  แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคเพราะนางจันทีมเหสีของท้าวชัยเสนวางอุบายให้ท้าวชัยเสนเข้าใจนางมัทนาผิด  สุดท้ายนางมัทนาได้มาขอความช่วยเหลือจากสุเทษณ์เทพบุตร  และสุเทษณ์เทพบุตรขอความรักนาง  อีกครั้งแต่นางปฏิเสธช่นเคย  เรื่องจึงจบลงด้วยความสูญเสียและความเจ็บปวดด้วยกันทุกฝ่าย

        ๒.  ตัวละคร 
                ๒.๑  สุเทษณ์  เป็นเทพบุตรที่หมกมุ่นในตัณหาราคะ  เจ้าอารมณ์  เอาแต่ใจตนเอง  และไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น  ดังตัวอย่างบทกวีต่อไปนี้
                    สุเทษณ์     :    เหวยจิตรเสน  มึงบังอาจเล่น  ล้อกูไฉน?
                    จิตระเสน    :   เทวะ,  ข้าบาท  จะบังอาจใจ  ทำเช่นนั้นไซร้ได้บ่พึงมี.
                    สุเทษณ์     :     เช่นนั้นทำไม  พวกมึงมาให้  พรกูบัดนี้,  ว่าประสงค์ใด  ให้สมฤดี?  มึงรู้อยู่นี่?  ว่ากูเศร้าจิต  เพราะไม่ได้สม 
                                            จิตที่ใฝ่ชม,  อกกรมเนืองนิตย์.
                    จิตระเสน    :    ตูข้าภักดี  ก็มีแต่คิด  เพื่อให้ทรงฤทธิ์   โปรดทุกขณะ.
                    สุเทษณ์     :     กูไม่พอใจ  ไล่คนธรรพ์ไป  บัดนี้เทียวละ  อย่ามัวรอลั้ง  
  ๒.๒  มัทนา   ซื่อสัตย์  นิสัยตรงไปตรงมา  คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น  ไม่รักก็บอกตรงๆ  ไม่พูดปดหลอกลวง  ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม  พูดแต่ความจริง  แต่ความจริงที่นางพูดทำให้นางต้องได้รับความลำบากทุกข์ระทมใจ  ดังตัวอย่างเมื่อสุเทษณ์บอกรักนางและขอนางให้คำตอบ

                                                            ฟังถ้อยดำรัสมะธุระวอน                    ดนุนี้ผิเอออวย.
                                                จักเปนมุสาวะจะนะด้วย                                 บมิตรงกะความจริง.
                                                อันชายประกาศวะระประทาน                         ประดิพัทธะแด่หญิง,
                                                หญิงควรจะเปรมกะมะละยิ่ง                           ผิวะจิตตะตอบรัก;
                                                แต่หากฤดีบอะภิรม                                        จะเฉลยฉะนั้นจัก
                                                เปนปดและลวงบุรุษะรัก                                 ก็จะหลงละเลิงไป.
                                                ตูข้าพระบาทสิสุจริต                                      บมิคิดจะปดใคร,
                                                จึ่งหวังและมุ่งมะนะสะใน                               วรเมตตะธรรมา.


            ๒.  กลวิธีในการดำเนินเรื่อง
                 การดำเนินเรื่องใช้กลวิธีให้มายาวินเป็นผู้เล่าอดีตชาติของสุเทษณ์เทพบุตร  และดำเนินเรื่องโดยแสดงให้เห็นลักษณะของสุเทษณ์เทพบุตรผู้เป็นใหญ่  ว่ามีบุญมีวาสนามาก  มีบริวารพรั่งพร้อมควรที่จะเสวยสุขในวิมานของตน  กลับเอาแต่ใจตนเองหมกมุ่นอยู่ในกามตัณหาราคะ  เฉพาะนางเทพธิดาที่ประดับบารมีก็มากล้นเหลือ  จะเสวยสุขอย่างไรก็ได้  แต่ก็ยังไม่พอ

                 ศิลปะการดำเนินเรื่อง  เปรียบให้เห็นว่าชายที่ร่ำรวยด้วยเงิน  อำนาจวาสนาอยากได้อะไรก็จะต้องเอาให้ได้  เมื่อไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล  ไม่ได้ด้วยมนตร์ต้องเอาด้วยคาถา  ผู้หญิงจึงเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะไม่มีอะไรจะไปต่อสู้  และมีไม่น้อยที่หญิงจะหลงไปติดในวิมานของคนร่ำรวย
                 การดำเนินเรื่องกำหนดให้สุเทษณ์สาปนางมัทนาให้เป็นดอกกุหลาบ  ต่อเมื่อถึงคืนเดือนเพ็ญจะกลายร่างเป็นหญิงรูปงามหนึ่งวันหนึ่งคืน  หากมีความรักเมื่อใดจึงจะกลายเป็นมนุษย์อย่างถาวร  และขอให้นางพบกับความทุกข์ระทมจากความรัก  หากนางมีความทุกข์ระทมเพราะความรักเมื่อก็ให้ไปอ้อนวอนสุเทษณ์ๆ  จึงจะยกโทษให้ 
                 เพราะสุเทษณ์เทพบุตรหวังว่าเมื่อนางต้องผิดหวังทุกข์ระทมเพราะความรัก  คงจะเห็นใจตนและยินดีรับรักบ้าง  แต่สุเทษณ์คาดการณ์ผิด   เพราะเรื่องกลับจบลงด้วยนางมัทนามาอ้อนวอนให้รักของนางสมหวัง  สุเทษณ์เทพบุตรขอให้นางรับรักก็ถูกปฏิเสธอีก  สุเทษณ์จึงโกรธแค้นและสาปนางให้เป็นดอกกุหลาบชั่วนิรันดร์            
 คุณค่าด้านวรรณศิลป์
๑.  การใช้ถ้อยคำและรูแบบคำประพันธ์เหมาะสมกับเนื้อหา  ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกคล้อยตาม  เกิดความประทับใจอยากติดตามอ่าน เช่น  เมื่อมายาวินเล่าเรื่องราวในอดีตถวายสุเทษณ์ว่าเหตุใดมัทนาจึงไม่รักสุเทษณ์  กวีเลือกใช้อินทรวิเชียรฉันท์  ๑๑  ที่มีท่วงทำนองเร็วเหมาะแก่การเล่าความ  หรือบรรยายเรื่อง  ส่วนเนื้อหาตอนสุเทษณ์ฝากรักนางมัทนานั้นใช้วสันตดิลกฉันท์  ซึ่งมีท่วงทำนองที่อ่อนหวาน เมื่อสุเทษณ์กริ้วนางมัทนาก็ไช้ กมลฉันท์  ซึ่งมีคำครุลหุที่มีจำนวนเท่ากันแต่ขึ้นต้นด้วยคำลหุ  จึงมีทำนองประแทกกระทั้นถ่ายทอดอารมณ์โกรธเกรี้ยวได้ดี ดังตัวอย่าง

                                                                                    มะทะนาชะเจ้าเล่ห์        ชิชิช่างจำนรรจา,....
                                                                         ....................................
                                                                        ก็และเจ้ามิเต็มจิต                       จะสดับดนูชวน,
                                                                        ผิวะให้อนงค์นวล                       ชนะหล่อนทนงใจ.
                                                                        บ่มิยอมจะร่วมรัก                        และสมัครสมรไซร้,
                                                                        ก็ดะนูจะยอมให้                          วนิดานิวาศสวรรค์,....


            ๒.  การใช้โวหาร  กวีใช้อุปมาโวหารในการกล่าวชมความงามของนางมัทนาทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพความงามของมัทนาเด่นชัดขึ้น  ดังตัวอย่าง
                                                     งามผิวประไพผ่อง               กลทาบศุภาสุพรรณ
                                         งามแก้มแฉล้มฉัน                            พระอรุณแอร่มละลาน
                                         งามเกศะดำขำ                                 กลน้ำ ณ ท้องละหาน
                                         งามเนตรพินิจปาน                           สุมณีมะโนหะรา
                                         งามทรวงสล้างสอง                         วรถันสุมนสุมา-
                                         ลีเลิดประเสริฐกว่า                           วรุบลสะโรชะมาศ
                                         งามเอวอนงค์ราว                             สุระศิลปชาญฉลาด
                                         เกลากลึงประหนึ่งวาด                      วรรูปพิไลยพะวง
                                         งามกรประหนึ่งงวง                           สุระคชสุเรนทะทรง
                                         นวยนาฏวิลาศวง                              ดุจะรำระบำระเบง
                                         ซ้ำไพเราะน้ำเสียง                            อรเพียงภิรมย์ประเลง,
                                         ได้ฟังก็วังเวง                                    บ มิว่างมิวายถวิล
                                          นางใดจะมีเทียบ                               มะทะนา ณ ฟ้า ณ ดิน
                                          เป็นยอดและจอดจิน-                        ตะนะแน่ว ณ อก ณ ใจ



            ๓.  การใช้ลีลาจังหวะของคำทำให้เกิดความไพเราะ  กวีมีความเชี่ยวชาด้านฉันทลักษณ์อย่างยิ่ง  สามารถแต่งบทเจรจาของตัวละครให้เป็นคำฉันท์ได้อย่างดีเยี่ยม  อีกทั้งการใช้ภาษาก็คมคาย  โดยที่บังคับฉันทลักษณ์  ครุ  ลหุ  ไม่เป็นอุปสรรคเลย  เช่น  บทเกี้ยวพาราสีต่อไปนี้ แต่งด้วยวสันตดิลกฉันท์  ๑๔  มีการสลับตำแหน่งของคำ  ทำให้เกิดความไพเราะได้อย่างยอดเยี่ยม

                        สเทษณ์ :     พี่รักและหวังวธุจะรัก และบทอดบทิ้งไป

                        มัทนา :    พระรักสมัครณพระหทัย ฤจะทอกจะทิ้งเสีย?

                        สุเทษณ์ :    ความรักละเหี่ยอุระระทด เพราะมิอาจจะคลอเคลีย

                         มัทนา :    ความรักระทดอุระละเหี่ย ฤจะหายเพราะเคลียคลอ



           ๔.  การใช้คำที่มีเสียงไพเราะ  อันเกิดจากการเล่นเสียงสัมผัสคล้องจอง  และการหลากคำทำให้เกิดความำพเราะ  เช่น  ตอนมายาวินร่ายมนตร์

                               อ้าสองเทเวศร์        โปรดเกศข้าบาท         ทรงฟังซึ่งวาท          ที่กราบทูลเชอญ
                               โปรดช่วยดลใจ       ทรามวัยให้เพลิน         จนลืมขวยเขิน         แล้วรีบเร็วมา
                               ด้วยเดชเทพไท้      ทรามวัยรูปงาม            จงได้ทราบความ     ข้าขอนี้นา
                               แม้คิดขัดขืน            ฝืนมนตร์คาถา            ขอให้นิทรา             เข้าสึงถึงใจ
                               มาเถิดนางมา          อย่าช้าเชื่องช้อย         ตูข้านี้คอย               ต้อนรับทรามวัย
                               อ้านางโศภา            อย่าช้ามาไว                ตูข้าสั่งให้                โฉมตรูรีบจร.
                               โฉมยงอย่าขัด         รีบรัดมาเถิด                ขืนขัดคงเกิด           ในทรวงเร่าร้อน
                               มาเร็วบัดนี้               รีบลีลาจร                   มาเร็วบังอร             ข้าเรียกนางมา

                จากตัวอย่างมีการเล่นเสียงสัมผัสใน  ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร และการหลากคำ
 วรรณศิลป์
 คุณค่าด้านสังคม
            ๑.  สอดแทรกความคิดเกี่ยวกับความเชื่อในสังคมไทย  เช่น
                ๑.๑  ความเชื่อเรื่องชาติภพ
                ๑.๒  ความเชื่อเรื่องการทำบุญมากๆ  จะได้ไปเกิดในสวรรค์  และเสวยสุขในวิมาน
                ๑.๓  ความเชื่อเรื่องทำกรรมสิ่งใดย่อมได้รับผลกรรมนั้น
                ๑.๔  ความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถา  การทำเสน่ห์เล่ห์กล
  ๒.  แสดงกวีทัศน์  โดยแสดงให้เห็นว่า  "การมีรักเป็นทุกข์อย่างยิ่ง"  ตรงตามพุทธวัจนะที่ว่า  "ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์"  เช่น
                ๒.๑  สุเทษณ์รักนางมัทนาแต่ไม่สมหวังก็เป็นทุกข์  แม้เมื่อได้เสวยสุขเป็นเทพบุตรก็ยัง
รักนางมัทนาอยู่  จึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้นางมาแต่ไม่สมหวังก็พร้อมที่จะทำลาย   ความรักเช่นนี้เป็นความรักที่เห็นแก่ตัวควรหลีกหนีให้ไกล
                ๒.๒  ท้าาสุราษฎร์รักลูกและรักศักดิ์ศรี  พร้อมที่จะปกป้องศักดิ์ศรีและลูกแม้จะสู้ไม่ได้และต้องตายแน่นอนก็พร้อมที่จะสู้  เพราะรักของพ่อแม่เป็นรักที่ลริสุทธิ์และเที่ยงแท้

                ๒.๓  นางมัทนารักบิดา  นางยอมท้าวสุเทษณ์เพื่อปกป้องบิดา  รักศักดื์ศรีและรักษาสัจจะ  เมื่อทำตามสัญญาแล้วจึงฆ่าตัวตาย รักของนางมัทนาเป็นความรักที่แท้จริงมั่นคง  กล้าหาญและเสียสละ
                ๒.๔  ท้าวชัยเสนและนางจันที  เป็นความรักที่มีความใคร่และความหลงอยู่ด้วยจึงมีความรู้สึกหึงหวง  โกรธแค้นเมื่อถูกแย่งชิงคนรัก  พร้อมที่จะต่อสู้ทำลายทุกอย่างเพื่อให้ได้กลับคืนมา
                
                ตัวละครทั้งหมดในเรื่องประสบแต่ความทุกระทมจากความรัก  มีรักแล้วรักไม่สมหวังก็เป็นทุกข์  อยู่กับคนที่ไม่รักก็เป็นทุกข์  มีรักแล้วไม่ได้อยู่กับคนรักก็เป็นทุกข์  มีความรักแล้วถูกแย่งคนรักก็เป็นทุกข์  มีรักแล้วพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์

แก่นของเรื่องมัทนะพาธาแสดงให้เห็นว่า  ผู้ที่มีความรักต้องเจ็บปวดจากความรักทั้งสิ้น

           ๓.  ให้ข้อคิดในการครองตน  หญิงใดอยู่ในฐานะอย่างนางมัทนาจะต้องมีความระมัดระวังตัว  หลีกหนีจากผู้ชายมาราคะให้ไกล  กวีจึงกำหนดให้ทางมัทนาถูกสาปกลายเป็นดอกไม้ชื่อดอกกฺุชกะ (กุหลาบ) ซึ่งสวยงามมีหนามแหลมคมเป็นเกราะป้องกันตนให้พ้นจากมือผู้ที่ปรารถนาจะหักหาญรานกิ่งหรือเด็ดดอกไปเชยชม  ดอกกุหลาบจึงเป็นสัญลักษณ์แทนหญิงสาวที่มีรูปสวยย่อมเป็นที่หมายปองของชายทั่วไป หนามแหลมคมเปรียบเหมือนสติปัญญา  ดังนั้นถ้าหญิงสาวที่รูปงามและมีความเฉลียวฉลาดรู้ทันเล่ห์เหลี่ยม  ย่อมสามารถเอาตัวรอดจากผู้ที่หมายจะหยามเกียรติหรือหมิ่นศักดิ์ศรีได้

            ๔.  ให้ข้อคิดในเรื่องการมีบริวารที่ขาดคุณธรรมอาจทำให้นายประสบหายนะได้  เช่น  บริวารของท้าวสุเทษณ์ที่เป็นคนธรรพ์  ชื่อจิตระเสนมีหน้าที่บำรุงบำเรอให้เจ้านายมีความสุข  มีความพอใจ  ดังนั้นจึงทำทุกอย่างเพือ่เอาใจผู้เป็นเจ้านาย  เช่น  แสวงหาหญิงงามมาเสนอสนองกิเลสตัณหาของเจ้านาย  ให้วิทยาธรชื่อมายาวินใช้เวทมนตร์สะกดนางมัทนามาให้ท้าวสุเทษณ์  บริวารลักษณะอย่างนี้มีมากในสังคมจริง  ซึ่งมีส่วนให้นาย หรือประเทศชาติ ประสบความเดือดร้อนเสียหายได้
       
              บทละครพูดคำฉันท์  เรื่อง  มัทนะพาธาถือเป็นวรรณคดีเรื่องเยี่ยมและได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นแบบอย่างของบทละครพูดคำฉันท์  โดยวรรณคดีเรื่องนี้ให้ความเพลิดเพลินจากเนื้อหาที่ชวนติดตาม  และวรรณศิลป์อันไพเราะแล้วยังให้ข้อคิดเกี่ยวกับความรักอย่างน่าสนใจ  จึงควรศึกษาวรรณคดีเรื่องนี้อย่างพินิจพิเคราะห์  เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการอ่านอย่างครบถ้วนสมบูรณ์



แหล่งที่มา






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

18 ที่ท่องเที่ยวจ.ตราด